ประสบการณ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคไต้ 2560 ของทีม Mini-MERT














เรื่องเล่าจากประสบการณ์การเป็นหน่วยแพทย์ Mini-MERT จังหวัดขอนแก่นในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ภาคไต้ของประเทศ


จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคไต้ของประเทศ  ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชากรที่อยู่ในพื้นที่ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 7 ได้มีคำสั่งจัดส่งทีม mini-MERT และ MERT เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560 ดังนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นจึงออกคำสั่งจัด ชุดปฏิบัติการและเตรียมอุปกรณ์เพื่อออกเดินทางเช้าวันที่ 9 มกราคม 2560 โดยมีพิธี ปล่อยขบวนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลขอนแก่นออกเดินทาง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 พร้อมเวชภัณฑ์ เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยจะไปประจำที่โรงพยาบาลท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาลขอนแก่น ประกอบด้วย

1.นายแพทย์รัฐระวี  พัฒนรัตนโมฬี นายแพทย์ชำนาญการ
2.ดร.จงกลณี  จันทรศิริ พยาบาลวิชาชีพ
3.นายธงชัย มิไกรลาด พยาบาลวิชาชีพ
4. นายราเมศร์  ไพสีขาว  Paramedic (นักปฏิบัติการฉุกเฉินการเเพทย์) 
5.นายประเสริฐ  สุริยะเสน EMT (เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์)  
6.นายคงพัก ผ่านวงษ์แพทย์ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์




ภารกิจวันแรก 9 มกราคม 2560

ทีมบุคลากร อุปกรณการแพทย์์และเวชภัณฑได้์ถูกเตรียมพร้อมอย่างเร่งรีบ ในตอนเช้า คณะผู้บริหารนำโดยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลขอนแก่น มาตรวจสอบความเรียบร้อย หลังจากนั้นได้นำชุดปฏิบัติการไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงพยาบาล เพื่อเป็นสิริมงคลให้การเดินทางโดยปลอดภัยและปฏิบัติภารกิจสำเร็จตามเป้าหมาย โดยย้ำถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ

ระหว่างการเดินทาง  ทีมปฎิบัติการได้วางแผนการทำงานและติดตามข่าวในพื้นที่ตลอดเวลา เนื่องจากได้รับทราบข่าวสารว่ามวลน้ำได้ไหลลงมาทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นทางผ่านเดียวของการลงสู่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี (จุดหมายปลายทางที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยเหลือ)

 
 

 



เมื่อเดินทางถึงสระบุรีก็เกิดฝนตกตลอดทาง ข่าวเกี่ยวกับน้ำก็มาทางไลน์เรื่อยๆซึ่งไม่อาจยืนยันความน่าเชื่อถือของข่าวได้เลย จนกระทั่งความชัดเจนก็เริ่มปรากฎจากภาพข่าวของสำนักข่าวต่างๆ ทำให้เราแน่ใจว่าเราคงไม่สามารถผ่านไปจุดหมายตามแผนที่วางไว้ได้ จึงได้ปรับแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากน้ำท่วมที่ อ.บางสะพาน ทาง จ.ประจวบคีรีขันธ์น่าจะต้องการความช่วยเหลือ ชุดปฏิบัติการจึงตัดสินใจหยุดพักที่ อ.ชะอำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรอประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ ระวังตนเองไม่ให้กลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ประกอบกับฝนตกหนักและผ่านการเดินทางมา 12 ชั่วโมงระหว่างเดินก็มีข่าวดีให้เราได้ชื่นใจ มีผู้ใหญ่ใจดีมอบเงินส่วนตัว 10,000 บาทให้คณะไว้สำรองเผื่อการซื้อเวชภัณฑ์ที่อาจจะหมดระหว่างทาง


 


ภารกิจวันที่สอง  10 มกราคม 2560

วันนี้ได้เข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพื่อรายงานตัวในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปพลางๆก่อนระหว่างรอการซ่อมสะพานที่ขาด ซึ่งน่าจะเรียบร้อยในวันถัดไป  ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังคงสับสนในข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าพื้นที่ใดบ้างนอกจากอำเภอบางสะพานที่มีความเสียหายเกิดขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้จัดแบ่งพื้นที่ ให้ไปปฏิบัติการที่ ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์  โดย นพ.สสจ.ประจวบฯ ได้ให้การต้อนรับและมอบภารกิจให้


 

12.00 เดินทางถึง ตำบลคลองวาฬ ซึ่งยังมีสภาพน้ำท่วมขัง  เข้าพบ ผอก.รพ.สต.คลองวาฬ ซึ่งได้เตรียมพื้นที่ในตลาดที่น้ำไม่ท่วมให้เราเปิดบริการตรวจโรคทั่วไป

ผอก.รพ.สต. เป็นพยาบาลวิชาชีพครับ ออกมาต้อนรับด้วยชุดลุยน้ำ

หลังจากตั้งและจัดวางห้องตรวจโรคชั่วคราวเสร็จ รีบรับประทานอาหารกลางวันและเริ่มตรวจผู้ป่วย  ผู้ป่วยคนแรกก็มาตามตำราครับ แผลติดเชื้อหลังจากโดนน้ำขัง ตามมาด้วยน้ำ กัดเท้า ปวดเมื่อย เครียด รวมแล้วให้บริการไปทั้งหมด 36 ราย มี 1 รายสงสัย Appendicitis ส่งตัวไป รพ.ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่าหลังจากเปิดบริการ ชาวบ้านมารับยาแก้ปวดเมื่อยและน้ำกัดเท้าจำนวนมาก จึงได้ประสานกลับมายัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ขออนุมัติจัดหาเวชภัณฑ์เพิ่ม ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นจึงได้ประสานงานให้เบิกยาจาก โรงพยาบาลประจวบฯได้

 
 

ขณะมาติดต่อขอรับยาที่ โรงพยาบาลประจวบฯ นั้นมีพี่พยาบาลท่านหนึ่งมาสอบถามว่าเรามาทำอะไรจึงแจ้งว่ามารับยาตามที่ร้องขอไว้และอยากขอยืมเครื่องเจาะน้ำตาลและแถบตรวจเนื่องจากเครื่องมือของเราชำรุด พี่พยาบาลท่านนั้นก็กดโทรศัพท์ถึง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบฯโดยทันที พวกเราประหลาดใจมากที่เจ้าหน้าที่สามารถโทรศัพท์หา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ง่ายอย่างนี้เลยเหรอ  แต่สุดท้ายก็บางอ้อว่าพี่เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพ.ประจวบฯนั่นเอง เป็นความโชคดีของพวกเราและชาวบ้านทำให้ได้รับการสนับสนุนเครื่องเจาะน้ำตาลและยาโดยสะดวก และเพื่อนของพี่จงกลนี ที่อยู่ โรงพยาบาลประจวบฯ ยังเป็นเจ้ามือเลี้ยงอาหารเย็นคณะเราอีกด้วย จากนั้นจึงกลับที่พัก รอรับการมอบหมายภารกิจและติดตามสถานการณ์ซ่อมสะพานต่อไป

 

ภารกิจวันที่สาม  11 มกราคม 2560

วันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบฯ มอบหมายให้ทีมเราออกปฏิบัติช่วยเสริมที่ โรงพยาบาลสนาม อ.บางสะพาน ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากมวลน้ำที่มากจน รพ.บางสะพาน ไม่สามารถเปิดบริการได้ ระหว่างเดินทางนั้นการจราจรติดขัดมาก แม้เช้านี้การซ่อมสะพานที่ชำรุดจะเสร็จแล้วแต่ก็ใช้ได้เพียง 1 ช่องทางจราจรเท่านั้น ประกอบกับปริมาณรถสะสมมาก ทราบจากทีม mini-MERT จังหวัดอื่นที่ออกก่อนหน้าเราใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการผ่าน 2 สะพานที่ซ่อม เราก็ได้แต่ทำใจและมุ่งหน้าต่อไป ระหว่างที่ติดอยู่บน ถนนเพชรเกษม ราว 1.30 ชั่วโมง เดชะบุญ ตำรวจเรียกรถพยาบาลของเราและรถข่าว อสมท.วิ่งช่องทางพิเศษสวนช่องถนนด้านขาเข้ากรุงเทพฯ จึงผ่านการจราจรอันมหาโหดมาได้ได้ข้ามสะพานเบย์ลี (รถไม่เกิน 25 ตัน)และพาเราไปเส้นทางลัดสู่บางสะพาน  

แต่เมื่อมาถึง อ.บางสะพานพบความเสียหายมากเหลือเกิน

 
 
สภาพด้านหน้าของโรงพยาบาลบางสะพาน

ชุดปฏิบัติการได้เข้ารายงานตัวกับ Field medical commander รพ.สนามบางสะพาน ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขส่งกำลังมาช่วยมากพอแล้ว แต่การจัดวางทรัพยากรขาดการสื่อสารที่ดี ท่านจึงให้ออกเดินทางไปปฏิบัติการต่อที่ จ.สุราษฎร์ธานีตามแผนที่วางไว้แต่แรก ระหว่างพบเหตุผู้ป่วยหายใจเร็วมือจีบจากความเครียดจึงลงให้การช่วยเหลือ หลังจากผ่านทางลัดมาขึ้นถนนเพชรเกษมทางสะดวกดีมาก ถึง จ.สุราษฎร์ธานี โดยสวัสดิภาพ


ภารกิจวันที่สี่  12 มกราคม 2560

รับมอบภารกิจจาก สสจ.สุราษฎร์ธานี ให้ออกหน่วยแพทย์สนามร่วมกับ รพ.ท่าชนะ

 
หน่วยแพทย์สนาม                                                                            ซักประวัติ
 
นั่งรอและพบแพทย์
 
ทำแผล                                                                                  รับยา
 
แบ่งทีมออกเยี่ยมบ้านโดยคุณจงกลณี

หลังเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันเข้าสักการะ พระพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกข์

สรุปการออกปฏิบัติการ เยี่ยมบ้าน 13 ราย  ออกตรวจ 73 ราย โรคทั่วไป 42 ราย น้ำกัดเท้า 29 ราย ทำแผล 3 ราย ส่งต่อ 3 ราย

ภารกิจวันที่ห้า  13 มกราคม 2560

วันนี้ได้รับมอบหมายภารกิจให้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ (Mobile OPD) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในพื้นที่ ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ตำบลประสงค์


 
 


สรุปภารกิจ

จะเห็นได้ว่าภารกิจที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ส่วนมากเป็นการออกปฏิบัติการเชิงฟื้นฟู เว้นแต่การปฏิบัติการที่ ตำบลคลองวาฬที่เป็นลักษณะฉุกเฉินเพราะสถานบริการในชุมชนไม่สามารถให้บริการได้

ปัญหาและอุปสรรคจากการออกปฏิบัติการ

1. การสื่อสารและการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยง ความต้องการของพื้นที่ การจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติการ เกิดความสับสน บางพื้นที่ไม่ทราบว่าตนเองต้องการชุดช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกเนื่องจากไม่สามารถเก็บข้อมูลจากพื้นที่ประสบภัยได้ บางพื้นที่มีชุดปฏิบัติการลงไปช่วยเหลือมากเกินความต้องการ

2.  ขาดแนวทางปฏิบัติของชุดปฏิบัติการทำให้แต่ละชุดปฏิบัติการมีศักยกภาพหรือความพร้อมที่แตกต่างกัน

3.  การสั่งการจากทางกระทรวงมีความชัดเจนแต่ออกล่าช้า ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

บทเรียนที่ได้รับจากการออกปฏิบัติ

1.  ต้องเตรียมความพร้อมด้านคน อุปกรณ์ แนวทางและวิธีการเดินทางที่จะไปถึงพื้นที่ประสบภัยให้ทันต่อความต้องการการช่วยเหลือ ดังนั้นหน่วยสนับสนุนที่ต้องทราบหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองในการเตรียมความพร้อมให้ชุดปฏิบัติการสามารถออกปฏิบัติการได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง  
มีความเกี่ยวข้องต่อการออกปฏิบัติการคือ

    องค์กรแพทย์  กลุ่มการพยาบาล   งานบริหาร – งานยานยนต์   งานการเงิน   กลุ่มงานเภสัชกรรมและหน่วยจ่ายกลาง 


2.  กลไกการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการปรับแผนปฏิบัติการเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการสำเร็จของภารกิจและความปลอดภัยของชุดปฏิบัติการซึ่งควรได้รับการสนับสนุนและมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะในงานด้านนี้

 

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณ นายแพทย์ชาญชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นและคณะผู้บริหาร กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน งานอุบัติเหตุและฉุกเฉินสำหรับโอกาสที่มอบให้คณะของเราได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ในการออกปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้ใหญ่ใจดีสำหรับเงินสนับสนุนและที่ลืมไม่ได้คือพี่ติ้มสำหรับการประสานงานทุกอย่างทุกด้าน



















แผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น ชั้น 1 อาคารสิรินธร เลขที่ 54-56 ถ.ศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000