เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 3 : บทสรุปภารกิจทีมแพทย์ไทย

นายแพทย์รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬี, แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น








ประเทศเนปาลตั้งอยู่ระหว่างประเทศอินเดียและทิเบตในหุบเขาทางด้านใต้ของเทือกเขาหิมาลัย  มีเมืองหลวงคือกรุงกาฐมาณฑุ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ส่วนในเมืองหลวงมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ประเทศเนปาลจำนวนประชากรประมาณ 30 ล้านคน ในปีนี้ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว สองครั้ง

เกิดครั้งแรก
ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558 เมื่อ 11.56 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือเวลาประมาณ 13.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวห่างจากกรุงกาฐมาณฑุประมาณ 80 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 15 กิโลเมตร มีขนาด 7.8 ริคเตอร์ เหตุการณ์ แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้เกิด Aftershock ตามมาจำนวนมาก ส่งผลให้โบราณสถานหลายแห่งมีอายุหลายร้อยปี อาคารบ้านเรือนพังเสียหายจนไม่เหลือสภาพเดิม ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว สหประชาชาตได้ิประเมินว่าบ้านเรือนกว่า 70,000 หลังพังถล่มเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ และอีกกว่า 530,000 หลังได้รับความเสียหาย ประเมินยอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 8,000 ราย และ 17,800 ราย ตามลำดับ นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศเนปาลนับแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาลที่รัฐพิหาร ในปี พ.ศ. 2477

ครั้งที่สอง เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลาท้องถิ่น 12:35 น. ที่ระดับความแรง 7.3 แมกนิจูด โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้ชายแดนจีน ระหว่างกาฐมาณฑุกับภูเขาเอเวอเรสต์  สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายมหาศาล
ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศ โดยช่วยเหลือด้านอาหารและอื่นๆ ตลอดจนความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ ซึ่งได้ส่งทีมแพทย์เพื่อปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งหมด 7 ทีม ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพต่างๆ ในการนี้งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่นได้ส่งทีมเข้าร่วมภารกิจนี้จำนวนสองทีม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  
ครั้งที่ 1 ได้ส่งนายนัฐพงษ์ สรรพสมบัติ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ร่วมกับทีมแพทย์ ชุดที่ 2 ซึ่งมีภารกิจระหว่างวันที่ 6 -16 พฤษภาคม 2558 ที่ ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาลโช

"
...แผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริคเตอร์ ซึ่งถือรับแรงสั่นสะเทือนได้แรงมาก มีบ้านพังมีผู้บาดเจ็บวิ่งออกมาจากบ้านมาขอความช่วยเหลือ ได้มีการเย็บแผลกลางที่โล่ง เนื่องจุดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ใกล้สะพาน วันนั้นมี Aftershock ประมาณ  5-6 ครั้ง จึงได้มีการงดออกพื้นที่  ส่วนทีมที่ออกตรวจบนภูเขาต้องเดินเท้ากลับมาเนื่องจากเกิดดินถล่มปิดเส้นทาง  แต่ทุกคนปลอดภัยดี...."

 ติดตามอ่าน เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 1 ภารกิจทีมแพทย์ไทยกับอาฟเตอร์ช็อก   คลิก



นายนัฐพงษ์ สรรพสมบัติ

ครั้งที่ 2 โรงพยาบาลขอนแก่นได้ส่งเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายแพทย์รัฐระวี   พัฒนรัตนโมฬี ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ  นายนายเอกพันธ์  ทานาลาด ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ และนายประภาส  เพ็งโคตร ตำแหน่งเจ้าพนักงานกู้ชีพ เข้าร่วมกับทีมแพทย์ไทย ชุดที่ 7

มีภารกิจระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่  10 กรกฎาคม 2558 ที่ ทีมชุดนี้ ประกอบด้วยแพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน และอื่นๆ อีก 5 คน โดยมีภารกิจที่มุ่งเน้นให้การตรวจรักษาและการปรับปรุงสุขาภิบาลต่างๆ เช่น ส้วม ขยะ และน้ำดื่ม ที่  Bhimtar, Sindhupalchok district




นายแพทย์รัฐระวี พัฒนรัตนโมฬีนายนายเอกพันธ์ ทานาลาดและนายประภาส เพ็งโคตร 
" ..สิ่งที่เราทำ คือ ได้ไปช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยไม่สบาย  เพราะประเทศเขาเองทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว  ส่วนทีมเราเข้าไปช่วยเขาได้มากเหมือนกัน ดูแลผู้ป่วยด้านร่างกายและดูแลด้านจิตใจ  และด้านสุขอนามัย  เรื่องการจัดการน้ำดื่มน้ำใช้  และการสร้างห้องน้ำตัวอย่างแก่ชุมชนและในโรงเรียน  ถึงการทำงานของเราจะลำบากเราก็ภูมิใจที่ได้ช่วยคนอื่นที่ตกทุกข์  เราต้องเดินทางบนเส้นทางที่เสี่ยงอันตรายเพราะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันต้องใช้ความระวัง ทั้งเดินเท้าและใช้รถยนต์ในการขึ้นไปช่วยเหลือ  เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมเสบียงอาหารแล้วออกทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย  เวลาเราน้อยจะต้องให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด  พวกเราก็ต้องเร่งงาน  ถึงแม้แดดจะร้อนหรือฝนจะตกเราก็ไม่หวั่น  ถึงแม้บางวันก็มีแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนเป็นบางครั้ง  เราก็ไม่ยอมย่อถ้อ   ...."

ติดตามอ่าน เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 2 ปิดท้ายภารกิจทีมแพทย์ คลิก
สภาพแวดล้อมรอบๆ ที่พักของทีมแพทย์ไทย ที่ปฏิบัติภารกิจ ชุดที่ 7

ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ไม่แพ้ชาติอื่นในโลก







ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์ในระบบการปกครอง และเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบกษัตริย์ยังคงได้รับการเทิดทูนจากประชาชน โดยไม่เกี่ยวว่าประเทศจะเจริญเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหนหรือประชาชนจะมีการศึกษาสูงแค่ไหน อย่างไรก็ดีปวงชนชาวไทยยังคงเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์  ยิ่งประชาชนมีความรู้มากยิ่งเข้าใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์ว่าทรงทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ได้หวังแค่ให้ประชาชนชื่มชม โครงการและแนวคิดหลายอย่างนั้นเน้นความมั่นคงระยะยาวไม่ได้แค่โฆษณาเพื่อเรียกความนับถือชื่นชม ยกตัวอย่าง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หลักปรัชญานี้เน้นการเพิ่งพิงหลักด้วยตนเองและธรรมชาติทรัพยากรที่มีอยู่รายล้อมตัวเรา ซึ่งหลักตรงนี้จากที่ผมได้สัมผัสกับการดำรงชีวิตของชาวเนปาลซึ่งส่วนมากดำรงชีวิตกับธรรมชาติ ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ปลูกไว้กิน เหลือก็ขาย ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตแบบนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว จากข่าวที่ได้ทราบมา ทางประเทศเนปาลไม่ได้ขาดแคลนอาหารเลยจนกระทั่งรัฐบาลเนปาลต้องออกแถลงการณ์ของดรับการบริจาคอาหาร ประชาชนของเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่กินกับธรรมชาติได้ เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ปัจจุบันความเจริญของประเทศพาทุกคนเข้าสู่สังคมเมือง อาศัยการผลิตอาหารจากระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่มีไม่กี่บริษัททำกิจการ หลายคนขาดทักษะในการอาศัยอยู่กับธรรมชาติแล้ว ดังนั้นถ้าเกิดภัยธรรมชาติใดๆก็ตามสิ่งที่ขาดแคลนคืออาหาร ที่ต้องอาศัยอาหารกระป๋องที่ต้องรอบริจาคต้องรอขนส่งและบางครั้งก็เน่าเสีย


ภัยพิบัติจากธรรมชาติกำลังค่อยๆคืบคลานมาเนื่องจากภาะภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไป
พวกเราชาวไทยพร้อมหรือยังสำหรับการเผชิญกับภัยพิบัติ ?






เด็กๆผู้เป็นความหวังแก่ประเทศ







ปัญหาด้านการศึกษา พบในทุกประเทศที่กำลังพัฒนา พื้นฐานปัจจัยสี่ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตนั้น เด็กๆในประเทศเนปาลยังขาดในหลายๆ เรื่อง สาเหตุที่ขาดก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีส่วนในการจัดหาพื้นฐานเหล่านี้ให้เด็กๆ แต่ด้วยพื้นฐานการศึกษาและความเชื่อดั้งเดิมทำให้การเปิดใจรับวิทยาการใหม่ๆ นั้นออกจะยากอยู่พอควร อย่างไรก็ดีเด็กๆในวันนี้คือผู้ใหญ่ที่จะไปพัฒนาประเทศในวันข้างหน้า โรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะพัฒนาเด็กๆให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้ รัฐบาลในทุกประเทศ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก
         ที่ประเทศเนปาลด้วยความเชื่อว่าการศึกษาเป็นของสูงดังนั้นโรงเรียนจึงตั้งอยู่บนภูเขาเท่านั้น
เด็กๆต้องออกเดินเท้าจากในชุมชนเพื่อขึ้นเขาไปเรียนเด็กๆเดินทุกวันจนคิดว่าเป็นเรื่อง ธรรมดาแต่ผู้ใหญ่แบบเราเดินถ้าเดินถึงโรงเรียนคงหมดแรงเรียนเลย เนื่องจากภูมิประเทศของโรงเรียนอยู่บนเขา โรงเรียนต้องปิดเทอมหน้าฝนเพราะเด็กๆขึ้นเขาลำบาก จะเริ่มเรียน
10.00-15.00 และไม่มีพักกลางวัน หมายถึงเด็กชาวเนปาลไม่มีมื้ออาหารกลางวันครับ นมโรงเรียนก็ไม่มี แม้แต่น้ำดื่ิ่มสะอาดก็ไม่มี เมื่อพวกเราทราบปัญหาดังกล่าวจึงหาวิธีช่วยแก้ไขบ้างเรื่องที่สามารถทำได้โดยที่ต้องไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องเจอต่อไป จึงมีโครงการระบบกรองน้ำภูเขาเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไปเนื่องจากระบบกรองนี้ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าใช้แต่แรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติซึ่งน้ำภูเขาไหลลงมาจากที่สูงอยู่แล้ว

กลับมามองประเทศไทย ชาวไทยที่อาศัยบนภูเขาห่างไกลบางแห่งก็คงมีคุณภาพชีวิตคล้ายๆนี้ แต่บุญของชาวไทยที่มีกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ที่ใส่ใจดูแลปัญหาเหล่านี้ พวกเราคนไทยก็ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กๆของประเทศเพื่อความเจริญของประเทสต่อไป ถ้ามีโอกาสลงแรงก็ไปทำ ถ้ามีเงินเหลือใช้ก็ร่วมบริจาคบ้างตามกำลัง อาจเริ่มจากงดการไปรับประทานอาหารตามโรงแรมหรือภัตคาร ท่านทราบไหมว่าเงินค่าอาหาร 1 มื้อ สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนของเด็กชาวเนปาลได้ 1 ปี ขณะนี้ผู้เขียนก็งดไปรับประทานอาหารตามโรงแรมแล้วเพื่อให้มีเงินมาบริจาคมากขึ้น ผมเชื่อว่าเมื่อทุกคนทราบว่าเงินที่เรามองว่าจำนวนน้อยนิดนั้นมีค่ากับเด็กๆขนาดไหน ท่านคงไม่นึกเสียดายเลยที่จะบริจาค

ดังเห็นได้จากครั้งนั้ที่ชาวสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นที่พวกเราประชาสัมพันธ์การบริจาคไปจึงได้รับความช่วยเหลืออย่างล้นหลามมากเกินความคาดหมาย สามารถทำโครงการเพิ่มได้มากกว่าเป้าหมายอีก2-3 โครงการ



 


      

  


 การเตรียมการและการตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมรับภัยพิบัติ






              ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ต้องมีความสูญเสียที่มากเกินบรรยายได้ ความสูญเสียนั้นส่งผลต่อกาย ใจ สังคมและประเทศ ดังนั้นการตอบโต้ที่เหมาะสมทั้งทางมหาดไทย การแพทย์และระดับชุมชนนั้น จะช่วยลดความสูญเสียหรือความรุนแรง และช่วยให้ทุกคนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ประเทศไทยนั้นประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่คือ สึนามิที่ภาคใต้ของประเทศไทย ครั้งนั้นก็เกิดความสูญเสีย ความโกลาหล จนเกิดแนวทางพัฒนาระบบป้องกันและเฝ้าระวังตามชายฝั่ง แต่ความเสี่ยงด้านอื่นๆที่มีนั้นได้มีการเตรียมการรึยัง บ่อยครั้งที่เราชอบทำเหมือน วัวหายล้อมคอกซึ่งไม่คุ้มเลยกับความสูญเสีย  ทีมการแพทย์ที่ต้องเข้าเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยอิ่นๆที่รับผิดชอบในด้านภัยพิบัติ ต้องสำรวจตนเองว่าพร้อมหรือยัง คน ของ แนวทางพร้อมหรือไม่ ซ้อมจนเข้าใจและปฏิบัติได้รึยัง  ให้ตระหนักไว้ว่าเราเป็นความหวังและโอกาสรอดของประชาชนรวมถึงครอบครัวของเราด้วย ถ้าระบบตรงนี้เข้มแข็งคนที่รับประโยชน์คือคนที่เรารักด้วย อย่าเหนื่อย อย่าท้อ บางครั้งบางคนอาจยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ขอให้ทุกท่านยึดมั่นในสิ่งที่เราเล่าเรียนมาและแนวทางที่พัฒนาร่วมกันอย่างบูรณาการ เมื่อเกิดเหตุวันใด วันนั้นจะเป็นโอกาสที่ทุกคนจะเข้าใจถึงงานที่เราได้ตรากตรำทำจนทุกวันนี้  


Related topic ;
เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 1 ประสบการณ์ในทีมแพทย์และอาฟเตอร์ช็อก
เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 2 ปิดท้ายภารกิจทีมแพทย์ไทย











แผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น ชั้น 1 อาคารสิรินธร เลขที่ 54-56 ถ.ศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000