เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 1  ประสบการณ์ในทีมแพทย์และอาฟเตอร์ช็อก

นายนัฐพงษ์  สรรพสมบัติ พยาบาลวิชาชีพ, ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น











         ประเทศเนปาลตั้งอยู่ระหว่างประเทศอินเดียและทิเบตในหุบเขาทางด้านใต้ของเทือกเขาหิมาลัย เหนือระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 60 เมตร จนถึงจุดสูงสุดของโลก คือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ มีความสูงถึง 8,848 เมตร มีเมืองหลวงคือกรุงกาฐมาณฑุ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขา ประเทศเนปาลเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมและสถาปัตย์ที่วิจิตรงดงาม มีวัดและสถูปที่สร้างจากไม้แกะสลัก และงานปั้นหิน ในเมือง หลวงมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จำนวนประชากรทั้งหมดมีประมาณ 30 ล้านคน เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลาประมาณ 13.11 น. ตามเวลาในประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งห่างจากกรุงกาฐมาณฑุประมาณ 80 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 15 กิโลเมตร ขนาด 7.8 ริคเตอร์ เหตุการณ์ แผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้เกิด Aftershock จำนวนมากกว่า 100 ครั้ง (รายงานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558) ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายย่อยยับ  โบราณสถานหลายแห่งมีอายุหลายร้อยปี เช่น หอภิมเสน ได้รับความเสียหายจนไม่เหลือสภาพเดิม อาคารเก่าแก่ที่จัตุรัส กาฐมาณฑุ ดูร์บาร์ ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว โดยสหประชาชาติประเมินว่าบ้านเรือนกว่า 70,000 หลังพังถล่มเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ และอีกกว่า 530,000 หลังได้รับความเสียหาย คาดว่ายอด ผู้เสียชีวิตมากกว่า 8,000 ราย บาดเจ็บมากกว่า 17,800 ราย (รายงานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558)











วันที่ 5 พฤษภาคม 2558  วันแรก ตกใจ  ตื่นเต้น









ผมได้รับสายจากกระทรวงสาธารณสุขว่าได้รับเลือกเข้าร่วม ในการเดินทางของทีมทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 ผมตกใจมาก เพราะตั้งใจรอ แต่นึกไม่ถึงว่าจะได้ไปเร็วขนาดนมีหนังสือแจ้งแฟ็กต์มาให้เรียบร้อยหลังจากวางสายโทรศัพท์ ให้เตรียมอุปกรณ์ พร้อมเดินทางใน 2 วัน







วันที่ 6 พฤษภาคม  2558 เตรียมความพร้อม









เดินทางเข้าร่วมมอบหมายงานจาก นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และทีมส่วนหน้าของกระทรวงกลาโหม โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและให้สัมภาษณ์ว่า ในงานสันนิบาตเมื่อคืนวานนี้ เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยได้พบนายกรัฐมนตรี และกล่าวขอบคุณประเทศไทยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว และได้ชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นเพื่อนแท้ในยามยาก     หลังจากนั้นได้ปฐมนิเทศทีมแพทย์ไทยชุดที่ 2 จำนวน 24 คน ซึ่งเป็นทีมผสม ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี สำนักงานป้องกันควบคุมโรค จ.อุบลราชธานี ทีมจาก รพ.ภูมิภาคจากจังหวัดสุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี สมุทรปราการ ลำพูน มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง ประกอบด้วยแพทย์ 8 คน ในจำนวนนี้ มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ แพทย์ด้านระบาดวิทยา พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เวชกิจฉุกเฉิน และอาสาสมัคร โดยมีนายแพทย์ศรายุทธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมป้องกันโรค จ.อุบลราชธานี เป็นหัวหน้าทีม















วันที่ 8-11 พฤษภาคม 2558  ปฏิบัติภาระกิจ







ผมได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจตรวจที่คลินิกอินทราวตี โดยบทบาทพยาบาลมีหน้าที่ในการจัดสถานที่เตรียมอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยาที่ใช้ในคลินิก  และแนะนำการออกกำลังการลดปวด ที่คลินิกจะมีแพทย์ไทยและเนปาลในการตรวจร่วมกัน มีคนไข้เฉลี่ยวันละ 70-100 และลดลงเรื่อยๆจนเหลือประมาน 40-60 คนต่อวันก่อนเปิดคลินิกตอนเช้าจะมีการสอนในเรื่องของสุขาภิบาลอาหาร สิ่งแวดล้อม การล้างมือ  วันต่อมา มีชาวบ้านมาตามว่ายังไม่มีแพทย์ไปตรวจที่หมู่บ้าน ซึ่งมีคนเจ็บป่วย ทางหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกเดินเท้าเข้าไปยังหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชุมชนบนภูเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อสำรวจและรักษาพยาบาล พยาบาลจะมีหน้าที่ดูแลในเรื่อง ของบาดแผลการจัดแจกยาร่วมกับสำรวจประชากรและความเสียหาย ของหมู่บ้าน ไปเช้ากลับในตอนเย็น  หลังจากการปฏิบัติงานได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน







วันที่ 12 พฤษภาคม 2558  ประสบการณ์แผ่นดินไหวและระทึกกับอาฟเตอร์ช็อก







มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริคเตอร์ ซึ่งถือรับแรงสั่นสะเทือนได้แรงมาก มีบ้านพังมีผู้บาดเจ็บวิ่งออกมาจากบ้านมาขอความช่วยเหลือ ได้มีการเย็บแผลกลางที่โล่ง เนื่องจุดตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ใกล้สะพาน วันนั้นมี Aftershock ประมาณ  5-6 ครั้ง จึงได้มีการงดออกพื้นที่  ส่วนทีมที่ออกตรวจบนภูเขาต้องเดินเท้ากลับมาเนื่องจากเกิดดินถล่มปิดเส้นทาง  แต่ทุกคนปลอดภัยดี







วันที่ 13-14 พฤษภาคม 2558  







ทีมสำรวจได้พบสถานีอนามัยที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวชื่อสถานีอนามัยพิมตรา ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 3-4 กิโลเมตร จึงมีการปรับแผนเพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเนปาลในการฟื้นฟู โดยใช้เต็นท์ของ Unicef ที่สถานีี่อนามัยได้รับบริจาคทำเป็นสถานที่ตรวจชั่วคราว มีการจัดห้องยา ห้องทำแผล ห้องตรวจ แจกผงคลอรีนในการทำน้ำสะอาด สอนสุขาภิบาลอาหาร สิ่งแวดล้อม การล้างมือ  และการออกกำลังการลดปวด การเฝ้าระวังแผ่นดินไหว  และมีการบริจาคยาและเวชภัณฑ์บางส่วนให้แก่อนามัยเพื่อให้สามารถสานต่องานได้เอง







วันที่ 15 พฤษภาคม 2558  







ได้มีการส่งต่องานให้ทีม 3 และเก็บของเดินทางเข้าสู่กรุงกาฐมาณฑุ เพื่อพบท่านทูตในการอำลาและสรุปภารกิจ หลังจากพบท่านทูตเสร็จได้มีการร่วมชมงาน โรงพยาบาลดูราเกลและบริจาคผงคลอรีน ยา  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์







วันที่ 16 พฤษภาคม 2558   เดินทางกลับประเทศไทย







เดินทางกลับไทยพร้อมการต้อนรับที่อบอุ่นจาก นพ. วชิระ เพ็งจันทร์  การปฏิบัติภารกิจร่วมกับทีมแพทย์  ทำให้ได้รับประสบการณ์ 2 เรื่อง คือ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอีกเรื่องคือการเรียนรู้ระบบการประสานงานความช่วยเหลือจากนานาชาติ  ซึ่งสามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อใช้ในอนาคต หากเกิดภัยภิบัติได้








 

   








Related topic ;
เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 2 ปิดท้ายภารกิจทีมแพทย์ไทย
เรื่องเล่าจากเนปาล ตอนที่ 3 บทสรุปภารกิจทีมแพทย์ไทย











แผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น ชั้น 1 อาคารสิรินธร เลขที่ 54-56 ถ.ศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000